หลักการดำเนินชีวิต


หลักการดำเนินชีวิตโดยสรุปของชาวพุทธ อันได้แก่

  1. ละเว้นความชั่ว ความผิด และสิ่งไร้สาระให้มากที่สุด เพื่อ ขจัดปัญหาและความทุกข์ความเดือดร้อน ต่างๆออกจากชีวิต, ครอบครัว, ประเทศชาติ, และโลก.

  2. กระทำสิ่งที่ดีงาม ถูกต้อง และมีสาระให้มาก เพื่อสร้างความสุขกาย-สุขใจให้กับชีวิต, ครอบครัว, ประเทศชาติ, และโลก.

  3. รักษาจิต อย่าให้ความยินดี, ยินร้าย, และความโง่เขลา เกิดขึ้นในจิต เพื่อให้จิตสงบเย็น, สดชื่น, แจ่มใส, ไม่มีทุกข์.

อธิบาย
- ความชั่ว ความผิด โดยสรุปก็คือการเบียดเบียนชีวิต (ของมนุษย์,สัตว์) และทรัพย์สินของผู้อื่น.
- สิ่งไร้สาระ ก็คือสิ่งที่ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นแก่ชีวิตทั้งหลาย.
- สิ่งที่ดีงาม ก็คือการเป็นมิตรกับทุกชีวิตบนโลก ช่วยเหลือชีวิตที่ประสบปัญหา ความทุกข์ ความเดือดร้อนให้พ้นจากปัญหา ความทุกข์ ความเดือดร้อน และมามีความสุขกาย สุขใจ ด้วยการให้อภัย, ให้ทรัพย์, ให้กำลังงาน, ให้ความรู้, และให้ธรรมะ.
- ความยินดี ก็คือความอยากได้ , พอใจ, ติดใจ ในสิ่งที่ให้ความสุขทั้งหลาย (คือจากเรื่องเพศ, วัตถุฟุ่มเฟือย, และ เกียรติยศ ชื่อเสียง).
- ความยินร้าย ก็คือความโกรธ, เกลียด, กลัว เบื่อหน่าย ฯลฯ (หรือความไม่อยากได้,ไม่อยากมี,ไม่อยากเป็น) ในสิ่งที่ ให้ความรู้สึกที่ไม่น่าพึงพอใจทั้งหลาย.
- ความโง่เขลา ก็คือความเชื่อในเรื่อง ไสยศาสตร์, โหราศาสตร์, สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ, ตลอดจนความเชื่อที่งมงายไร้สาระที่ขาดเหตุผล ขาดความจริงมารองรองรับทั้งหลาย.

คุณสมบัติที่ต้องมีโดยสรุป

  1. มีปัญญา : คือมีความรู้ทั้งทางโลก (เท่าที่จำเป็น) และทางธรรม (คือมีความรอบรู้ในหลักเหตุผลตามหลักอริยสัจ ๔ อันเป็นหัวใจของพุทธศาสนาจากการศึกษาอย่างถูกต้องจากผู้ที่รู้จริง).
  2. มีศีล : คือมีศีลอย่างน้อยศีล ๕ และมีวาจาสุภาพ, ละเว้นอบายมุข -สิ่งเสพติด - และสิ่งฟุ่มเฟือยต่างๆ (ตั้งใจปฏิบัติด้วยตนเอง).
  3. มีสมาธิ : คือมีจิตที่ เข้มแข็ง, บริสุทธิ์, และอ่อนโยนอยู่ตลอดเวลา (จากการฝึกฝนสมาธิอย่างถูกต้องมาก่อน).

คติธรรมประจำใจ

  1. ในเรื่องการดำเนินชีวิต - เรียบง่าย ไม่มีส่วนเกิน
  2. ในเรื่องการศึกษา - อย่าเชื่อใคร แม้แต่ตัวเอง
  3. ในเรื่องการปฏิบัติ - เพ่งดูความจริงของธรรมชาติ

อธิบาย
- ชีวิตที่เรียบง่ายก็คือ การใช้สอยทรัพยากรของโลกเท่าที่จำเป็นแก่การมีชีวิตอยู่อย่างไม่เดือดร้อน และพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด
- สิ่งเกินความจำเป็นแก่ชีวิตก็คือ ถ้าเกินความจำเป็นแก่การดำเนินชีวิต ก็จัดว่าเป็นส่วนเกินทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย
- อย่าเชื่อใคร แม้แต่ตัวเองก็คือ การศึกษาสิ่งที่ดี มีประโยชน์ ไม่มีโทษ จากตำรา หรือจากคนอื่น แต่ก็ยังไม่เชื่อ จนกว่าจะได้พิสูจน์จนเห็นผลอย่างแน่ชัดแล้วเท่านั้น
- การเพ่งดูก็คือ ความตั้งใจ หรือ การมีสมาธิ
- ความจริงของธรรมชาติก็คือ ความจริงเรื่องความไม่เที่ยงแท้ถาวรของทุกสิ่ง, เรื่องความที่ทุกสิ่งต้องทนอยู่อย่างยากลำบาก, และเรื่องความไม่ใช่สิ่งที่เป็นตัวตนหรือตนเอง (อนัตตา-ความไม่ใช่ตัวตน) ของทุกสิ่ง ที่เรียกว่ากฎไตรลักษณ์

เตชปญฺโญ ภิกขุ
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)
*********************
Free Web Hosting